นพ.นพดล วรอุไร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ กับความท้าทายในปีที่ 6 ของสำนักวิชา

     สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2555 เมื่อได้รับการรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จากแพทยสภา จึงเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2556 จัดการเรียนการสอนพร้อมเป้าหมายที่วางไว้ว่า จะเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำเพื่อชุมชนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

     และเมื่อเร็วๆ นี้ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ของสำนักแพทยศาสตร์ มฟล. ได้รับการตรวจประเมิน ด้วยเกณฑ์ WFME ซึ่งย่อมาจาก World Federation for Medical Education เป็นองค์กรสากลที่รับรองมาตรฐานหลักสูตรแพทย์ทั่วโลก ซึ่ง มฟล. ผ่านเกณฑ์มาตรฐานขั้นพื้นฐานแล้ว นพ.นพดล วรอุไร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจสำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

๐ สำนักวิชาแพทยศาสตร์เตรียมตัวสำหรับการตรวจประเมินเกณฑ์ WFME อย่างไร?
     เนื่องจากสิ่งที่เราดำเนินการอยู่แล้วจำนวนมากสอดคล้องกับมาตรฐานอยู่แล้ว ซึ่งเราได้ศึกษามาตรฐานเพื่อว่ามีส่วนใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือยังไม่มีความก้าวห้าเท่าที่ควรก็พยายามปรับปรุง คณะกรรมการได้มาตรวจประเมินแล้วเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2560 จากรายงาน หลักฐาน ตลอดจนการสัมภาษณ์ทั้งผู้เรียน ผู้สอน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เพื่อตรวจสอบว่าการจัดการเรียนการสอนมีมาตรฐานระดับสากลหรือไม่ ซึ่งเราได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานขั้นพื้นฐานแล้ว โดยยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปจนกระทั่งมีนักศึกษาแพทยศาสตร์รุ่นแรกจบการศึกษาและทำงาน ซึ่งขณะนี้ศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 5 ก่อนจะพัฒนาหลักสูตรตามเกณฑ์ที่วางไว้ เพื่อนำหลักสูตรแพทยศาสตร์ มฟล.เข้าสู่ระดับสากล

๐ การประเมินผ่านไปด้วยดีไหมคะ?
     สำหรับโรงเรียนแพทย์ใหม่อย่าง มฟล. ถือว่าผ่านไปด้วยดี มีหลายข้อจากเดิมที่ไม่สามารถผ่านได้ แต่ได้พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นกระทั่งผ่านการประเมิน เนื่องจากคำนึงถึงประเด็นที่ว่านักศึกษาที่จบจากโรงเรียนแพทย์ที่ได้รับการรับรองนี้จะสามารถศึกษาต่อเนื่องในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา จะได้นำความรู้ที่ก้าวหน้าทันสมัยกลับมาพัฒนาประเทศได้ต่อไปในอนาคตนั้นจะเป็นสิ่งที่ดี

๐ สำนักวิชาแพทยศาสตร์จัดตั้งมาแล้ว 6 ปี ยังมีความท้าทายที่ต้องดำเนินการให้บรรลุผลอีกมากไหมคะ?
     ความท้าทายมีมาตลอดตั้งแต่แรก เมื่อเริ่มต้นทำหลักสูตรต้องหาโรงพยาบาลร่วมผลิตหลัก จากเดิมมองไว้ในพื้นที่แต่มีสถาบันการศึกษาอื่นทำความร่วมมือไปแล้ว จึงต้องแสวงหาต่อไปจนได้ร่วมมือกับทาง กทม. คือ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ และ รพ.กลาง และด้วยหลักสูตรที่เน้นเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ชุมชน ตามที่ รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี ย้ำเรื่องนี้ชัดเจนที่อยากแก้ปัญหาบ้านเมือง เนื่องจากแพทย์ในชนบทขาดแคลน ด้วยมีการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ มีผลให้ในพื้นที่ชนบทห่างไกลแพทย์จึงค่อนข้างน้อย ไม่สมดุลกัน จึงอยากจะผลิตแพทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้
     ดังนั้นนอกจากมีสถาบันร่วมผลิตหลักในกทม.แล้ว ยังมีเครือข่าย รพ.ชุมชน ใน จ.เชียงราย 12 แห่ง และ รพ. ระดับจังหวัด คือ รพ.สุโขทัย และ รพ. ศรีสังวร สุโขทัย เป็นสถาบันร่วมผลิต ทำให้นักศึกษามีประสบการณ์หลากหลาย
     และนักศึกษาแพทย์ มฟล. ต้องลงพื้นที่ชุมชนตั้งแต่ปีที่ 1 ต่อเนื่องตลอด 6 ปี โดยในช่วงปีที่ 4 - 6 ที่ต้องไปเรียนอยู่ กทม. นศ.จะกลับมาเชียงรายทุกปี ใช้เวลานานถึง 6 สัปดาห์เพื่อมาลงเวชศาสตร์ชุมชน ไปเยี่ยมรพ.ชุมชน, รพ.จังหวัดบ้าง ตลอดจนครอบครัวหรือชุมชนที่พวกเขาเคยไปมาตลอดต่อเนื่องเพื่อสร้างความรักผูกพันกับชุมชน
     นอกจากนี้ สำนักวิชาแพทย์ ยังมีเครือข่ายระดับประเทศอย่าง University of North Texas Health Science Center หรือ Kumamoto University ที่มีการแลกเปลี่ยนวิชาการกัน มีโปรเฟสเซอร์มาสอนที่ มฟล. บ้าง และแลกเปลี่ยนนักศึกษาไปอยู่เพื่อประสบการณ์ในช่วงเวลาสั้นๆ ราว 2 สัปดาห์ ทั้งในอเมริกาและในญี่ปุ่น

๐ ศูนย์การแพทย์ที่ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จนั้นมีส่วนสนับสนุนการเรียนกาสอนอย่างไร?
     มีส่วนอย่างมาก เมื่อเปิดดำเนินการแล้วก็จะมีอาจารย์แพทย์มากขึ้น เครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจวินิจฉัยมากขึ้น สามารถใช้ประกอบการวิจัยในระดับระดับที่ก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น อาจารย์แพทย์ที่จะเพิ่มขึ้นก็จะมีส่วนช่วยให้ข้อเสนอแนะ บูรณาการการวิจัย ทำให้วิจัยมีคุณภาพดียิ่งขึ้น

๐ เมื่อเร็วๆ นี้ Oregon Health & Science University มาเยี่ยมมีความร่วมมือกันมากขึ้นอย่างไรคะ?
     Oregon Health & Science University มีโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงมาก การที่เรามีโอกาสทำงานร่วมกันเป็นสิ่งที่ดีมากๆ และสอดคล้องกับนโยบายในการผลิตแพทย์ด้วย ซึ่งผมได้รับการอนุเคราะห์จาก นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ให้ผมร่วมไปเป็นแขกเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยโอเรกอน ติดต่อกัน 2 ปี ปีนี้เมื่อกุมภาพันธ์ 2561 ทางโอเรกอน ทั้งอธิการบดีรวมทีมผู้บริหารอีก 17 คนได้เดินทางมาเยี่ยมเยียน อธิการบดี มฟล.และได้ไปชมอาคารศูนย์การแพทย์ พร้อมลงนามความร่วมมือกัน ที่จะแลกเปลี่ยนบุคลากรทั้งอาจารย์และนักศึกษา ตลอดจนทำวิจัยร่วมกัน รวมถึงจะใช้ทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมวิชาการหรือสัมมนาต่างๆ

และทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในการสร้างแพทย์ในแบบฉบับของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่ทุกคนรอคอยความสำเร็จด้วยความหวัง

  • 8600 ครั้ง