เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นประธานเปิดโครงการการจัดการเรียนการสอนรายวิชาแบบบูรณาการโดยใช้ STEM ศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการสอนของครูในโรงเรียนชายขอบจังหวัดเชียงราย โดยดำเนินงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสังกัดจังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประดู่แดง 1 อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี
โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมิน PISA และ อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาร่วมบรรยายในหัวข้อ “การจัดการเรียนการสอนรายวิชาแบบบูรณาการโดยใช้ STEM ศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการสอนของครูในโรงเรียนชายขอบจังหวัดเชียงราย” และหัวข้อ “บทบาทของผู้บริหารในการสนับสนุน STEM ศึกษา ในโรงเรียนอย่างยั่งยืน” (สำหรับผู้บริหารและผู้อำนวยการสถานศึกษา) และยังได้รับเกียรติจาก ดร.กุศลิน มุสิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (หรือ สสวท.) มาบรรยายหัวข้อ “Best Practices และความสำคัญของ STEM ศึกษา”
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมงานกับภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาของจังหวัดเชียงราย ทั้งจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 เขต 3 และเขต 4 ผู้อำนวยการโรงเรียน รวมทั้งคณะครูที่เข้าร่วมโครงการระดับชั้นประถมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง การยกระดับคุณภาพของครูในจังหวัดเชียงรายก็ถือเป็นภารกิจ ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเช่นกัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความตั้งใจจริงที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบการศึกษาของจังหวัดเชียงรายให้ก้าวหน้าและทันสมัย สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของสังคม โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการศึกษาที่เป็นปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับครูผู้สอน
โครงการการจัดการเรียนการสอนรายวิชาแบบบูรณาการ โดยใช้ STEM ศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการสอนของครูในโรงเรียนชายขอบจังหวัดเชียงราย หรือเรียกสั้นๆ ว่า โครงการ STEM นั้น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ถอดบทเรียน นำความสำเร็จ และผลสัมฤทธิ์จากโครงการที่ได้ดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นำมาพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและกิจกรรมให้มีคุณภาพ และเหมาะสมกับครูผู้สอนที่เข้าร่วมโครงการมากยิ่งขึ้น
คณะทำงานโครงการ STEM ประกอบด้วย คณาจารย์จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ จำนวน 19 ท่าน และบุคลากรของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รวมทั้งคณะครูจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย อีก 6 ท่าน
โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวน 30 โรงเรียน จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 เขต 3 และเขต 4 เขตพื้นที่ละ 10 โรงเรียน และมีครูที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนละ 3 คน รวมทั้งสิ้น 90 คน