เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สาขาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับบริษัท ป๊าม๊าพลัส จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทแยกส่วนธุรกิจจากมหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการเปิดห้องเรียนพ่อแม่ด้วยเน็ตป๊าม๊า (Empowering Communities to Initiate Parent Training Classrooms using the Net PAMA) ณ ห้อง E4A-518 อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีระยะเวลาการอบรมตั้งแต่ 8.30-16.00 น.
.
ผศ. ดร.ชมพูนุช โสภาจารีย์ คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ เปิดเผยว่า การอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วยบุคลากรที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัวจากจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และน่าน รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อาทิ ส่วนพัฒนานักศึกษาและศูนย์บริการวิชาการ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นายแพทย์ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาเป็นวิทยากรหลักในการอบรม
.
ผศ. ดร.ชมพูนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการ Healthy Gamer Prevention Model (COMBAT) ที่มุ่งแก้ปัญหาเด็กติดเกมในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งดำเนินการโดยคณาจารย์ของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ผลการวิจัยพบว่าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ โดยผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีกิจกรรมร่วมกับลูกหลาน เข้าใจผลกระทบจากการให้เด็กเล่นเกมมากเกินไป และได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงลูกที่ถูกต้องตามพัฒนาการ ในส่วนของเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ พบว่ามีพฤติกรรมการเล่นเกมที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีระเบียบวินัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น และสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
.
การอบรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชนให้สามารถเปิดห้องเรียนพ่อแม่โดยใช้หลักสูตรเน็ตป๊าม๊า และเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเชิงบวกให้แก่ประชาชนทั่วไป โครงการนี้มีเป้าหมายในการฝึกอบรมบุคลากรในระดับต่างๆ ตั้งแต่เพื่อนพ่อแม่ กระบวนกรพ่อแม่ ไปจนถึงนักฝึกอบรมผู้ปกครอง เพื่อให้สามารถเปิดห้องเรียนพ่อแม่ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
การอบรมครั้งนี้เน้นการฝึกปฏิบัติเพื่อเป็นวิทยากรห้องเรียนพ่อแม่ระดับที่ 1 : การเป็นเพื่อนพ่อแม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเปิดห้องเรียนพ่อแม่ในชุมชนโดยใช้หลักสูตรเน็ตป๊าม๊า ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ทักษะการเป็นวิทยากร การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร และการใช้เครื่องมือต่างๆ ในโปรแกรมเน็ตป๊าม๊าอย่างมีประสิทธิภาพ
.
ทั้งนี้ ผู้จัดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีความรู้และจรรยาบรรณในการเปิดห้องเรียนพ่อแม่ ส่งเสริมให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้การเลี้ยงดูเชิงบวก และเพิ่มการใช้งาน "เน็ตป๊าม๊า" ในวงกว้าง ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาพฤติกรรมในเด็กและวัยรุ่น ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในระยะยาว