นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและวิทยสถานด้านกฎหมายอวกาศและโทรคมนาคมเพื่อการพัฒนา นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชูเกียรติ น้อยฉิม พร้อม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล อาจารย์ ดร.สุวิจักขณ์ จันดาพันธ์ และว่าที่ร้อยตรี นภวัฒน์ สืบนุสรณ์ ได้รับเกียรติจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ให้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงาน Thailand Space Week 2024 ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2567 ณ Hall 9-10 Impact Exhibition เมืองทองธานี กรุงเทพฯ
.
รศ.ดร.ชูเกียรติ นักกฎหมายด้านอวกาศคนแรกของประเทศไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายอวกาศจากมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Leiden University) ได้บรรยายในหัวข้อ "Spaceport: The Gateway of Opportunities for Thailand" หรือ "ท่าอวกาศยาน: ประตูแห่งโอกาสสำหรับประเทศไทย" ซึ่งพัฒนามาจากโครงการวิจัย "การจัดตั้งท่าอวกาศยานของประเทศไทย : มิติทางด้านกฎหมายและความเป็นไปได้" ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566
.
ในการบรรยาย รศ.ดร.ชูเกียรติ ได้เน้นย้ำความสำคัญของท่าอวกาศยานในฐานะโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านอวกาศที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมตั้งคำถามสำคัญถึงทิศทางของประเทศไทยในการเปิดหรือปิดประตูแห่งโอกาสนี้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์กำลังก้าวไปข้างหน้าด้วยการออกกฎหมายอวกาศภายในและประกาศเจตนารมณ์ที่จะเป็นประเทศมหาอำนาจด้านอวกาศ
.
“ประเทศไทย จะเปิดประตู หรือ จะปิดประตู แห่งโอกาส ในการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานการดำเนินกิจกรรมอวกาศของประเทศไทยนี้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ออกกฎหมายอวกาศภายใน และประกาศให้ทั่วโลกรับรู้ว่าเขาจะใช้เทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาประเทศและสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ของตน รวมทั้งฟิลิปปินส์มุ่งมั่นที่จะเป็นประเทศมหาอำนาจทางด้านอวกาศให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว”
.
ไฮไลท์สำคัญของงานคือการเปิดตัวหนังสือ "ท่าอวกาศยาน: ประตูแห่งโอกาสของประเทศไทย" ผลงานเล่มแรกของวิทยสถานฯ โดย รศ.ดร.ชูเกียรติ น้อยฉิม ซึ่งนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับท่าอวกาศยานอย่างครอบคลุม ทั้งนิยาม ความสำคัญ องค์ประกอบ รูปแบบ แนวคิดการจัดตั้ง และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายจากประเทศชั้นนำด้านอวกาศอย่างรัสเซีย จีน และออสเตรเลีย
.
ท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเป็น 'ประตูเชื่อม' ระหว่างโลกกับห้วงอวกาศ เพื่อการสำรวจ ใช้ประโยชน์ และการท่องเที่ยวในอวกาศ รวมถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต หนังสือเล่มนี้จึงถือเป็นแหล่งความรู้สำคัญสำหรับนักศึกษา ผู้สนใจ และนักปฏิบัติทางด้านอวกาศของประเทศไทย ในการนำข้อมูลและแนวคิดไปพัฒนาต่อยอดเพื่ออนาคตของประเทศ
.
สำหรับ งาน Thailand Space Week 2024 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ถือเป็นเวทีระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดด้านเทคโนโลยีอวกาศและธุรกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3,000 คนจาก 34 ประเทศทั่วโลก บริษัทชั้นนำกว่า 70 แห่ง พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตและผู้นำองค์กรอวกาศจากนานาประเทศทั้งในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์และมุมมอง