เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ให้การต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่กองทุน กทปส. และสื่อมวลชนที่เข้าศึกษาดูงานการใช้ระบบ Digital Administration (E-School) และการประยุกต์ใช้ Digitals Tools ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม และโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์
อาจารย์ ดร.พฤทธิ์ พุฒจร ผู้ช่วยอธิการบดี มฟล. กล่าวว่า มฟล. มฟลได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 จนถึงปัจจุบัน วงเงินงบประมาณมากกว่า 35 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ชนบทของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงให้สามารถยกระดับการเรียนการสอนและการบริหารจัดการศึกษาสถานศึกษาได้ประสบความสำเร็จและมีผลสำเร็จด้วยดี ในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่เจ้าหน้าที่และคณะสื่อมวลชนได้มาศึกษาดูงานเนื่องจากจะได้เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยของ มฟล. ที่ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจาก กทปส. และรับทราบถึงความมุ่งหวังและตั้งใจของมหาวิทยาลัยที่จะร่วมมือพัฒนาทรัพยากรสื่อสารและการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาชุมชน
ผศ.นอ.ดร.ธงชัย อยู่ญาติวงศ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มฟล. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชนบทด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษา (Utilization of Digital Technology to Enhance Teaching-Learning and Administration in Rural Schools) เป็นโครงการฯ ที่มีความเชื่อมโยงกับโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อันเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มฟล. และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกันเป็นเวลาหลายปี ตั้งแต่ปี 2550 โดยในโครงการดังกล่าวได้วางแนววัตถุประสงค์ ให้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Infrastructure) และสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนในพื้นที่ชนบท โดยใช้จังหวัดเชียงรายเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาและการให้บริการชุมชน จากผลการดำเนินงานของโครงการได้เป็นที่กล่าวถึงและได้รับการยอมรับในวงกว้าง จากวงการศึกษาทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ทั้งในเรื่องของการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การพัฒนาศักยภาพครูโดยการใช้ ICT เป็นเครื่องมือ การส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ภาษาอังกฤษ การพัฒนาระบบโปรแกรมด้านคอมพิวเตอร์ และด้านอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการประสานความความร่วมมือเพื่อสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างโรงเรียนและชุมชน และนอกจากนั้นการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและห้องศูนย์ทางไกล ยังเป็นต้นแบบในการจัดทำศูนย์ ICT ชุมชน (USO Net) ให้กับสำนักงาน กสทช. เพื่อขยายผลองค์ความรู้แก่ประชาชนในทุกเขตภูมิภาคของประเทศ
จากผลการดำเนินโครงการดังกล่าว มฟล. โดยสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีแนวคิดที่จะขยายผลต่อยอดจากการจัดทำโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลฯ จึงได้จัดทำโครงการวิจัยพัฒนาขึ้น คือ “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชนบทด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพโดยรวมของการบริหารโรงเรียนในชนบท” โดยมีแนวคิดที่จะขยายผลต่อยอดการจัดทำต้นแบบการปฏิรูปการเรียนการสอน และการบริหารจัดการของโรงเรียนในชนบทด้วย Digital Technology (e-School) เพื่อรองรับศตวรรษที่ 21 และ Digital Society โดยการพัฒนาระบบ Digital Administration ให้เป็นต้นแบบในการนำระบบ ICT มาใช้ในงานบริหารจัดการงานหลักของโรงเรียน อันประกอบด้วยงานสารบรรณ งานการเงินและบัญชี งานพัสดุ งานประวัติผลงานของบุคลากรทางการศึกษา งานดูแลช่วยเหลือนักเรียนและกิจกรรมนักเรียน และการติดตามงานสำหรับผู้บริหาร ได้แก่ ระบบ e-Office ระบบ e-Money ระบบ e-Material ระบบ e-Folio ระบบ e-Student และระบบ e-Executive ตามลำดับ รวมทั้งการส่งเสริมบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้และทักษะด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Tools ในการเรียนการสอน และพัฒนาให้เกิดเป็นชุมชนดิจิทัลแห่งการเรียนรู้ (Digital Learning Community of Practice) เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับคุณภาพการบริหารและการเรียนการสอนของโรงเรียนในชนบท ให้กับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ
"โรงเรียนในโครงการทั้ง 20 โรงเรียน ได้มีการนำระบบไปใช้งานทุกโรงเรียน โดยเลือกใช้โมดูลที่ตนเองพร้อมใช้งานตามลำดับ และมีโรงเรียนอื่นๆนอกโครงการได้ขอนำระบบดังกล่าวไปใช้งานกว่า 100 โรงเรียนในหลายพื้นที่ของประเทศ นักเรียน ปัจจุบันโครงการได้บรรลุเป้าหมายในการสร้างครูแกนนำจำนวนกว่า 100 คน จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 20 โรงเรียน ในการพัฒนาทักษะการใช้ Digital Tools ใหม่ๆที่เหมาะสม และเทคนิคการนำไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนทีมีสัมฤทธิผล โดยโครงการได้ส่งเสริมให้เกิดเป็น Digital Learning Community of Practice จากครูแกนนำกลุ่มนี้ เพื่อการแบ่งปันความรู้ และการร่วนกันพัฒนาการเรียนการสอน ล่าสุดทางด้านครูในโครงการยังได้รับรางวัล Thailand 2019 Innovative Teacher Leadership Award เป็นรางวัลชนะเลิกระดับประเทศ และจะได้ไปนำเสนอผลงานในเวทีระดับนานาชาติที่ประเทศออสเตรเลียในเร็วๆนี้ อีกด้วย" ผศ.นอ.ดร.ธงชัย อยู่ญาติวงศ์ กล่าว
ด้านนายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้อำนวยการ กทปส. เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้สอดรับกับการเดินหน้าสู่ Thailand 4.0 พื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนก็คือ การศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนสามารถทำได้ครอบคลุมมากที่สุด ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ไปยังโรงเรียน ครูอาจารย์ และนักเรียน นอกจากนี้จิ๊กซอร์ที่สำคัญที่จะเข้ามาเป็นศูนย์กลางเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้จึงมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบการทำงานขึ้น ดังนั้น กทปส. เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการมอบทุนเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชนบทด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษา (Near Real-time Captioning) ขึ้น
สำหรับโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชนบทด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ดำเนินการโดย มฟล. ได้รับมอบทุนสนับสนุนจาก กทปส. ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดและมีความเชื่อมโยงกับโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบันและการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลให้การพัฒนาการเรียนการสอนและถ่ายทอดองค์ความรู้สามารถทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น การพัฒนาคอนเทนต์ต่างๆ เป็นรูปแบบดิจิทัลสามารถแบ่งปันในระบบดิจิทัลได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นไปยังโรงเรียนต่างๆ ในชนบทที่ห่างไกลของประเทศได้เข้าถึงการเรียนการสอน และพัฒนาด้านการศึกษาไทย อีกทั้งยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอีกด้วย