มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย สถาบันพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ศูนย์บริการวิชาการ จัดการปฐมนิเทศผู้เข้าศึกษา หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ห้องประชุมเชียงแสน อาคารวันชัย ศิริชนะ (AD1) มฟล. จ.เชียงราย และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยได้รับความเมตตาจาก พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย และได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้โอวาทผู้เข้าศึกษาผ่านระบบ Zoom Meeting และยังได้รับเกียรติจาก ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) และอาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ร่วมให้โอวาทแก่ผู้เข้าศึกษา ณ ห้องประชุมเชียงแสน ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และมี ดร.ภัททิรา วิภวภิญโญ อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มฟล. เป็นผู้ดำเนินพิธีการ
หลังจากเสร็จสิ้นการให้โอวาท ได้มีการแนะนำหลักสูตร แนวทางการสอน การวัดและประเมินผล โดยเหล่าคณาจารย์ผู้สอน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง (หัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มฟล.) อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง อาจารย์ฉัตร์ณพัฒน์ ปัญญาเพชร อาจารย์มานิตย์ กันทะสัก อาจารย์ขจรเดช หนิ้วหยิ่น อาจารย์วัชระ กว้างไชย์ และอาจารย์กาญจนา ชลศิริ ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าศึกษาทั้งพระภิกษุสามเณรและฆราวาส ใน 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 พุทธศิลป์พื้นฐาน แผน ก (ทฤษฎี) และแผน ข (ทฤษฎีและปฏิบัติ) ระดับที่ 2 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ และระดับที่ 3 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ขั้นสูง
รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. กล่าวต้อนรับ ความตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของ มฟล. ในการเปิดปฐมนิเทศหลักสูตรพุทธศิลปกรรม ถือเป็นวันเริ่มต้นการศึกษา ซึ่งนับเป็นเกียรติของ มฟล. ด้วยหลักสูตรนี้ไม่ใช่หลักสูตรธรรมดา ไม่ใช่หลักสูตรที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยความความบังเอิญ
“มฟล. ตั้งอยู่ภายใต้พระสมัญญานามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย จังหวัดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์รวมของงานศิลปะและศิลปิน เป็นแหล่งสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย”
“หลักสูตรนี้มีที่มาจากบุคคลสำคัญ 3 ท่าน คือ รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ พระเมธีวชิโรดม และศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เกิดขึ้นในห้วงสมัยที่พุทธศิลปกรรมมีความเปลี่ยนแปลง ผิดเพี้ยน เราต้องการรักษาสุนทรียภาพทั้งทางด้านศิลปะและพุทธศาสนา หลักสูตรเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ 3 ฝ่ายคือมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วัดร่องขุ่น ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดกลุ่มศิลปินเชียงราย ร่วมมือกันทำให้เกิดเป็นหลักสูตรพุทธศิลปกรรม ที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจทั้งทางด้านศิลปะและพุทธศานา ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อรักษารากเหง้าของพุทธศิลปกรรมอันแท้จริง ให้ปรากฏต่อสาธารณชน ไม่ใช่แค่ชาวไทย แต่ในระดับนานาชาติด้วย” อธิการบดี มฟล. กล่าว